เหล็กโครงสร้าง(Structural steels)

เหล็กฉาก(Angle bar)

เราสามารถดัด-ม้วนเหล็กฉากได้ 5 ทิศทางดังนี้

  1. ด้านปีกออก (Leg-out)
  2. ด้านปีกเข้า (Leg-in)
  3. ด้านสันเข้า (Angle in)
  4. ด้านสันออก (Angle out)
  5. ด้านข้าง (Side way)

1. ด้านปีกออก (Leg-out)
เป็นทิศทางการดัดที่นิยมมากที่สุดเพราะมีการใช้งานได้กว้างขวางมาก ส่วนใหญ่ใช้ทำหน้าแปลนท่อ ขนาดตั้งแต่ Ø300 มม. จนถึง Ø30000 มม.


รูปแสดงเหล็กฉากที่ถูกดัดด้านปีกออก

การดัดเหล็กฉากถือว่าเป็นงานที่ยาก เพราะรูปร่างของเหล็กฉากเองนั้นมีหน้าตัด(section)ที่ไม่สมมาตร ทำให้การดัดเป็นไปได้ยาก ขณะดัด/ม้วน เหล็กฉากจะมีการบิดตัวเอียงเสียรูป จึงมีการคิดวิธีทำให้หน้าตัดสมมาตรโดยนำเหล็กฉาก 2 เส้นมาอ๊อกประกอบเป็นตัวที(T)ก่อนดัด ทำให้งานดัดง่ายและสะดวกขึ้นมาก


รูปแสดงเหล็กฉากที่อ๊อกประกอบเป็นตัวที และดัดด้านปีกออก

แต่มีข้อเสียหลักที่ต้องมีการอ๊อกเชื่อมให้เหล็กฉากติดกันก่อน และหลังจากดัดก็ต้องเจียรตัดรอยเชื่อมออก เพื่อให้ได้เหล็กฉากแยกเป็น 2 อัน ซึ่งนอกจากจะเสียเวลาทั้งสองตอน และเหล็กฉากเป็นรอบเว้าแหว่งจากรอยเชื่อมอีกด้วย ทั้งยังต้องทำเป็นคู่อีกด้วย ถ้างานมีจำนวนเป็นเลขคี่ก็จะต้องทิ้งไป 1 วง หรือ ตัดแบ่งครึ่งวง วิธีการนี้นิยมทำกันมาในช่วงหลายสิบปีก่อน (และยังคงมีทำอยู่ในโรงงานที่ใช้เครื่องจักรรุ่นเก่า) ทำให้หลายคนยังเข้าใจว่าการม้วนเหล็กฉากต้องอ็อกติดเป็นตัวทีเสมอ

ปัจจุบัน มีเครื่องจักรรุ่นใหม่ ที่มีลูกกลิ้งด้านข้าง(side rollers)ช่วยดันและขืนให้เหล็กฉากคงรูปได้ จึงสามารถดัดเหล็กฉากทีละเส้นได้โดยไม่ต้องอ๊อกติดเป็นตัวทีอีกต่อไป ช่วยร่นระยะเวลาได้มาก ทั้งยังไม่ต้องมีรอบเว้าแหว่งอีกต่อไป

การดัดปีกออกนี้ เราสามารถดัด-ม้วน เหล็กฉากได้ทุกขนาดตั้งแต่ L12x12x3, L25x25x3, L50x50x4, L75x75x5, L100x100x9, L150x150x10, L200x200x20 โดยมีรัศมีแคบสุดที่สามารถดัดได้ จะขึ้นกับขนาดความกว้างของปีกเหล็กฉาก ดังนี้


ขนาดเหล็กฉาก รัศมีแคบสุด
1 25x25 150
2 38x38 150
3 50x50 200
4 63x63 400
5 75x75 500
6 90x90 600
7 100x100 600
8 130x130 750
9 150x150 850
10 200x200 1000

การใช้งาน สามารถใช้ได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่ ทำหน้าแปลนท่อ ถัง โครงสร้าง ขาตั้ง ค้ำยัน ตลอดจน อุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ

2. ด้านปีกเข้า (Leg-in)
เป็นทิศทางที่ดัดยากกว่าแบบแรก(ด้านปีกออก)มาก เพราะปีกในมักจะย่นหรือโค้งงอขณะดัด ทำให้ต้องมีลูกกลิ้งช่วยฝืนปีกเหล็ก สามารถดัดได้ทุกขนาดเช่นเดียวกับการดัดปีกออกเพียงแต่รัศมีแคบสุดจะโตกว่าด้านปีกออกเท่านั้น

ปัญหาการดัดเหล็กฉากปีกเข้า อีกประการคือ เหล็กฉากมักจะเสียมุมฉากไป คือ กลายเป็นมุมเล็กกว่าฉาก เพราะการดัดทำให้เหล็กฉากยืดตัวไม่เท่ากัน


รูปแสดงเหล็กฉากที่ถูกดัดด้านปีกเข้า

การใช้งานเหล็กฉากปีกเข้ามักใช้ท่าหน้าแปลนภายใน ใช้ดามถังขนาดใหญ่ เนื่องจากมีความแข็งแกร่งสูงกว่าปีกออกมาก

3. ด้านสันเข้า (Angle in)


รูปแสดงเหล็กฉากที่ถูกดัดด้านสันเข้า

เป็นด้านที่ดัดค่อนข้างง่ายเพราะรูปหน้าตัดจะสมมาตร ขณะดัดเหล็กจะไม่มีการบิดตัว แต่ต้องมีลูกกลิ้งประกบทุกด้าน มิฉะนั้นเหล็กฉากจะอ้าออกเป็นมุมป้านเสียรูป

มีการใช้งานค่อนข้างน้อย เช่น ลูกล้อวิ่งตามราง, คานดามถังด้านใน, ท่อน้ำหล่อเย็นภายในถัง เป็นต้น มีงานไม่ถึง 5% ของงานดัดเหล็กจากทั้งหมด ทางเราสามารถดัดได้ทุกขนาดเช่นกัน

4. ด้านสันออก (Angle out)


รูปแสดงเหล็กฉากที่ถูกดัดด้านสันออก

เป็นด้านที่ยากกว่าสันเข้าเพราะปีกอาจย่นได้ การใช้งานได้แก่ ท่อน้ำหล่อเย็นนอกถัง, ลูกล้อขนาดใหญ่, คานดามตัวถังด้านนอก เช่นเดียวกับด้านสันเข้า มีการใช้งานค่อนข้างน้อยไม่ถึง 5% ของงานดัดเหล็กฉากทั้งหมด

5. ด้านข้าง (Side way)


รูปแสดงเหล็กฉากที่ถูกดัดด้านข้าง

นับเป็นด้านที่ยากที่สุด ทั้งยังมีการใช้งานน้อยที่สุดอีกด้วย (ไม่ถึง 1%) การใช้งานได้แก่ รางล้อประตูสวิง ดามฝาถังแบบเรียบ

เราสามารถดัดเหล็กฉากด้านข้างได้สูงสุดเพียง L150xL150x10 การดัดต้องใช้เวลามากกว่าแบบอื่นๆ มาก ทั้งยังมีโอกาสที่ชิ้นงานจะเสียหายมากกว่าอีกด้วย เนื่องจากเหล็กฉากอาจเสียรูประหว่างการดัดได้ง่าย